อาการชาที่ปลายนิ้วมือที่มาจากโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ
อัพเดทล่าสุด: 15 ต.ค. 2024
139 ผู้เข้าชม
โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome หรือ CTS) เป็นโรคระบบประสาทส่วนปลายที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบในประชากรทั่วไปประมาณ 1% โรคนี้พบมากที่สุดในช่วงวัยกลางคนหรือวัยสูงอายุ จากการศึกษาผู้ป่วย 1215 คน พบว่าร้อยละ 83 มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีแนวโน้มที่ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายถึงสองเท่า
ลักษณะการเกิดของโรค
พังผืดบริเวณข้อมือหนาตัวขึ้น ทำให้ช่องที่เส้นประสาทลอดผ่านแคบลง จึงเกิดการกดทับเส้นประสาทมีเดียน(median nerve) ที่บริเวณข้อมือ
อาการทางคลินิก
- มีอาการปวดที่ข้อมือ
- รู้สึกชา, หรือรู้สึกเสียวในพื้นที่ที่เส้นประสาทมีเดียนอยู่ (ด้านฝ่ามือของนิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, และนิ้วกลาง) อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นที่นิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง, นิ้วนางครึ่งนิ้วที่ติดกับนิ้วกลาง หรือทั้งสี่นิ้วรวมกันก็ได้
- แสดงอาการได้บ่อยตอนกลางคืน การงอหรือเหยียดข้อมืออย่างต่อเนื่องในขณะที่นอนหลับ เชื่อว่ามีส่วนทำให้เกิดอาการในตอนกลางคืน
- กิจกรรมประจำวันตอนที่ข้อมือด้านฝ่ามือกดกับวัตถุ (เช่น การขับรถ, การถือแก้ว, และการพิมพ์) มักทำให้ความเจ็บปวดรุนแรงขึ้น
- อาการเจ็บปวดและความผิดปกติของความรู้สึก บางครั้งสามารถบรรเทาได้โดยการนวดหรือเขย่ามือ
ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงสมดุลของน้ำในร่างกาย (เช่น การตั้งครรภ์, การใช้ยาคุมกำเนิด, การฟอกเลือด) อาจทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิด Carpal tunnel syndrome โดยอาการที่เกิดจากการตั้งครรภ์มักจะเป็นชั่วคราวและมักหายไปได้เอง
การทดสอบอาการของโรค Carpal tunnel syndrome เบื้องต้น สามารถใช้การทดสอบเฉพาะที่ชื่อว่า Phalens testโดยจะให้ผู้ป่วยงอข้อมือทั้งสองข้างจนสุด จากนั้นให้หลังมือมาติดกัน หากมีความเสี่ยงที่เป็นโรค Carpal tunnel syndrome จะเกิดอาการชา หรือปวดขึ้นที่บริเวณด้านฝ่ามือนิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง, หรือทั้งสี่นิ้วรวมกันก็ได้ ภายในระยะเวลา 60 วินาที
การรักษาทางกายภาพบำบัด จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ การบำบัดรักษาช่วงที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ผ่าตัด และการฟื้นฟูหลังการผ่าตัดแล้ว ในบทความนี้เราจะพูดถึงการบำบัดรักษาช่วงที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ผ่าตัด
เป้าหมายในการบำบัดรักษา
- ลดอาการปวดและชา: ใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดช่วยลดอาการปวดและชา รวมถึงการลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ เช่น PMS, TECAR และ LASER
- ฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ: การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อข้อมือและมือ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้เต็มที่
- เพิ่มความยืดหยุ่นและการเคลื่อนไหว: การยืดกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อมือและนิ้วมือ เพื่อป้องกันการเกิดพังผืดเพิ่มขึ้น ร่วมกับการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น TECAR, Shock wave
- ป้องกันการเกิดอาการซ้ำ: การให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่าทางการทำงานที่ถูกต้อง การจัดการสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน และการใช้เครื่องมือช่วย เช่น ปลอกข้อมือพยุง เพื่อลดการกดทับของเส้นประสาทในระยะยาว
อ้างอิง
1. Brotzman, S. B., & Manske, R. C. (Eds.). (2011). Clinical orthopaedic rehabilitation: An evidence-based approach (3rd ed., pp. 18-19) Elsevier.
2. Phalens Test (Phalens Maneuver). FreeDPT, 7 Oct. 2016, https://freedpt.wordpress.com/2016/10/07/phalens-test-phalens-maneuver/
3. American Physical Therapy Association. (2019). Hand pain and sensory deficits: Carpal tunnel syndrome clinical practice guidelines. https://www.apta.org/
บทความที่เกี่ยวข้อง
โรคนอนไม่หลับเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย เป็นได้ตั้งแต่ วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ สาเหตุของโรคนอนไม่หลับนั้นหลากหลาย รวมถึงปัจจัยทางกายภาพ จิตใจ และพฤติกรรม
โรคนิ้วล็อค (Stenosing Tenosynovitis) หรือที่เรียกว่า Trigger finger เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมีการอักเสบของเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อบริเวณนิ้วมือ ทำให้เกิดการตีบหรือการล็อคของนิ้วเมื่อมีการงอหรือเหยียดออก โดยอาการจะเริ่มจาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ
โรคที่เกิดอาการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นและเอ็นที่อยู่บริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ ปลอกหุ้มเอ็นที่หุ้มรอบเอ็นเหล่านี้จะหนาขึ้น ทำให้เกิดการบีบตัวของเอ็นภายในปลอกหุ้ม ส่งผลให้มีอาการปวดและบวมบริเวณข้อมือและฐานของนิ้วหัวแม่มือ