ทำความรู้จัก การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง (spinal cord injury, SCI)
การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง (spinal cord injury, SCI)
คือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับไขสันหลังที่อยู่ในโพรงกระดูกหลัง (spinal canal) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การส่งสัญญาณระหว่างสมองและร่างกายถูกขัดขวาง การบาดเจ็บนี้สามารถนำไปสู่การสูญเสียการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึกในบริเวณต่างๆ ของร่างกายที่อยู่ต่ำกว่าจุดที่เกิดการบาดเจ็บไขสันหลังนั้นควบคุม
ประเภทของการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
การบาดเจ็บที่ไขสันหลังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. การบาดเจ็บไขสันหลังแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete SCI)
การทำงานของไขสันหลังไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด ผู้บาดเจ็บยังคงมีความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือรู้สึกได้บางส่วน
2. การบาดเจ็บไขสันหลังแบบสมบูรณ์ (Complete SCI)
การทำงานของไขสันหลังสูญเสียไปทั้งหมดไม่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือรู้สึกในบริเวณที่ต่ำกว่าจุดที่เกิดการบาดเจ็บ
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งตามหลัก ASIA score (American Spinal Injury Association score) ได้ดังนี้
Level A: Complete คือ ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อรยางค์ กล้ามเนื้อหูรูด ทวารหนัก และไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกจากใน และ/หรือรอบทวารหนักอย่างสมบูรณ์
Level B: Sensory incomplete คือ สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ในส่วนที่ต่ำกว่าระดับไขสันหลังที่บาดเจ็บ ร่วมกับสามารถรับความรู้สึกในทวารหนัก และ/หรือ รอบทวารหนัก แต่ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อรยางค์ ในส่วนที่ต่ำกว่าระดับไขสันหลังที่บาดเจ็บได้
Level C: Motor incomplete คือ ยังมีการทำงานของกล้ามเนื้อหลัก (key muscle) น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกล้ามเนื้อในระดับที่ต่ำกว่าระดับไขสันหลังที่บาดเจ็บ มีกำลังกล้ามเนื้อน้อยกว่าระดับ 3
Level D: Motor incomplete คือ ยังมีการทำงานของกล้ามเนื้อหลัก (key muscle) อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนกล้ามเนื้อในระดับที่ต่ำกว่าระดับไขสันหลังที่บาดเจ็บ มีกำลังกล้ามเนื้อมากกว่าหรือเท่ากับระดับ 3
Level E: Normal คือ ประสาทสั่งงาน ประสาทรับความรู้สึก และการขับถ่ายกลับฟื้นเป็นปกติ
สาเหตุของการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
- อุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
- การล้ม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- การบาดเจ็บจากการกีฬา เช่น การเล่นกีฬาที่มีการปะทะหรือการกระโดดสูง
- อาชญากรรม การถูกยิงหรือถูกแทง
- การบาดเจ็บจากการทำงาน โดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้แรงมากหรือมีความเสี่ยงสูง
การรักษา
การรักษาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังมักมีเป้าหมายคือ
- ลดการบาดเจ็บเพิ่มเติมโดยการตรึงกระดูกสันหลังหรือการทำผ่าตัด
- การฟื้นฟูสภาพร่างกาย ผ่านการทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และการฝึกฝนการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน รวมทั้งใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด ในการช่วยฟื้นฟูระบบประสาทส่วนที่เสียหายไม่สมบูรณ์ กระตุ้นในส่วนที่รับความรู้สึกบกพร่องบางส่วน และชะลอการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อในส่วนที่ยังไม่สามารถควบคุมได้
- การบำบัดทางจิตใจและอารมณ์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต
เครื่องมือที่ใช้ในการรักษา
เครื่อง PMS (Peripheral Magnetic Stimulation)
เครื่อง HPLT (High power laser therapy)
อ้างอิง
1. National Institute of Neurological Disorders and Stroke. (n.d.). Spinal cord injury information page. National Institutes of Health., from https://www.ninds.nih.gov/health-information/disorders/spinal-cord-injury
2. World Health Organization. (n.d.). Spinal cord injury., from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/spinal-cord-injury