แชร์

เด็กชอบเล่นกับเพื่อนแรง ๆ รับมืออย่างไรดี

อัพเดทล่าสุด: 8 พ.ย. 2024
310 ผู้เข้าชม

       พฤติกรรมการเล่นแรงเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองหนักใจเป็นอย่างมาก เพราะกระทบกับพัฒนาการด้านการเข้าสังคม เวลาพาเด็กไปเจอสังคมและสถานที่ใหม่ ๆ เด็กในช่วงอายุ 3 ปีขึ้นไป เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง แสดงอารมณ์มากขึ้น มีการเคลื่อนไหวแขนและขามากขึ้นมาจากพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่เริ่มแข็งแรง และเริ่มอยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งปัญหาเล่นแรงเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ

- เด็กไม่รับรู้อารมณ์ของผู้อื่น ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อผู้อื่นแสดงสีหน้าและท่าทางแบบไหน ผู้อื่นกำลังรู้สึกอะไร

- เด็กเรียกร้องความสนใจ เมื่อถูกผู้ปกครองละเลย

- เด็กไม่ได้ปลดปล่อยพลังผ่านการเล่นเลย ไม่มีสถานที่ให้เล่น

- เด็กมีปัญหาการประมวลผลประสาทความรู้สึก ทำให้ไม่สามารถกะแรง กะระยะได้ การแสดงพฤติกรรมขณะเล่นจึงกลายเป็นพฤติกรรมที่ดูรุนแรง เช่น เด็กอยากจะเข้าไปเล่นกับเพื่อนด้วยการแตะไหล่เพื่อน แต่ไม่รู้วิธีการกะแรงจึงออกแรงเยอะเป็นการผลักเพื่อนแทน

- เมื่อเด็กมีอารมณ์เสียใจ โมโห หงุดหงิด แต่ไม่รู้ว่าควรระบายอารมณ์เชิงลบอย่างไร อาจทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมรุนแรงได้ เช่น ขว้างของ ปาของใส่ผู้อื่น ทุบโต๊ะ เตะผู้อื่น

- เด็กเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรง มาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้ปกครองเคยแสดงพฤติกรรมรุนแรงให้ดู หรือเคยเห็นพฤติกรรมนี้จากที่โรงเรียน

วิธีการแก้ไขปัญหาการเล่นแรง

1. ควรสอนให้เด็กรู้จักอารมณ์พื้นฐานของตนเอง และสอนให้สังเกตอารมณ์ของผู้อื่นผ่านสีหน้าและท่าทาง เพื่อให้สามารถแสดงออกทางอารมณ์กลับไปได้อย่างเหมาะสม

2. ควรให้เวลาคุณภาพกับเด็ก ผู้ปกครองควรใช้เวลากับลูกผ่านการเล่น เพื่อกระตุ้นพัฒนาการและสอนทักษะต่าง ๆ เมื่อลูกต้องเข้าไปอยู่ในสังคม เช่น ไปโรงเรียน ไปที่สาธารณะ

3. จัดกิจกรรมและสถานที่ให้เด็กพร้อมปลดปล่อยพลังผ่านการเล่น และชักชวนให้เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและผู้อื่น เนื่องจากเด็กในวัยนี้เป็นช่วงที่มีการพัฒนาด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่มาก

4. ส่งเสริมกิจกรรมที่ต้องใช้การกะแรง และการกะระยะ เพื่อให้เด็กรู้จักควบคุมแรงของตนเอง เช่น โยนลูกบอลลงห่วง

5. หากสาเหตุมาจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้ปกครองควรงดจอ ควบคุมเนื้อหาของสื่อ หรือจำกัดจำนวนการดู เนื่องจากเด็กที่ได้รับสื่อผ่านการดูจอมา ยังไม่มีความคิดซับซ้อนที่สามารถแยกความเป็นเหตุและผลได้ด้วยตนเอง ทำให้เด็กเลือกใช้การจดจำและนำมาใช้กับผู้อื่น เพราะไม่รู้ผลกระทบของการทำพฤติกรรมนั้น ๆ ถ้าพฤติกรรมรุนแรงมาจากการเลียนแบบผู้ปกครอง ควรฝึกปรับพฤติกรรมของผู้ปกครองเองแล้วแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อเป็นต้นแบบให้เด็กได้เรียนรู้


บทความที่เกี่ยวข้อง
กิจวัตรประจำวัน เรื่องเล็ก ๆ ที่สำคัญ
การช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน เป็นทักษะสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กมีพื้นฐานที่ดี เพราะกิจวัตรประจำวันเป็นสิ่งจำเป็นที่เด็กทุกคนต้องทำประจำไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหาร การแต่งกาย การขับถ่าย และการดูแลความสะอาดของร่างกาย
เมื่อลูกกินยาก ทำอย่างไรดี
เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัย 1 - 3 ปี เป็นวัยที่มีความคิดเป็นของตัวเองค่อนข้างสูง เริ่มรู้จักความต้องการของตนเอง รู้จักการปฏิเสธมากขึ้น ปัญหาที่มาจากการที่เด็กเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น คือ เลือกกิน กินยาก เบื่ออาหาร และไม่ยอมกินอาหาร
พัฒนาการด้านการเขียน เรื่องเขียนง่ายนิดเดียว!
ปัญหาที่เรามักจะพบได้บ่อยในเด็กวัยเริ่มเขียน คือ เด็กจับดินสอไม่ถูกต้อง จับดินสอไม่เป็น ส่งผลให้เด็กไม่มั่นใจและไม่ให้ความร่วมมือในการเขียน
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy