เล่นอย่างไร ให้ส่งเสริมพัฒนาการ
การเล่น เป็นกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่สำคัญในวัยเด็ก มีส่วนช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยในทุก ๆ ด้าน เช่น พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการด้านภาษา และพัฒนาการด้านการเข้าสังคม เป็นต้น
ประโยชน์ของการเล่น
- ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ
- ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยในทุก ๆ ด้าน
- ช่วยพัฒนาความคิดความเข้าใจขั้นสูง (Executive Function : EF) เช่น การรอคอย การวางแผน การแก้ไขปัญหา การควบคุมตนเอง
- ช่วยลดเวลาในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และลดการเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากการใช้สื่อ เช่น การติดจอ การมีพฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อหรือการ์ตูน
พัฒนาการการเล่นในแต่ละช่วงวัย
0-2 ปี : เด็กวัยนี้จะเล่นผ่านประสาทสัมผัส โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อสำรวจสิ่งรอบตัว เช่น การเอื้อมมือไปหยิบจับสิ่งของ หยิบเอาของเข้าปาก คลานหรือเกาะยืนเพื่อสำรวจ
2-3 ปี : เด็กวัยนี้จะเล่นแบบการสร้าง เป็นการใช้ของเล่นสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมาตามจินตนาการ เช่น การปั้นดินน้ำมัน การต่อบล็อกแบบต่าง ๆ
3-4 ปี : เด็กวัยนี้จะมีการเล่นสมมติโดยใช้อุปกรณ์เพื่อแทนเป็นของอีกสิ่งหนึ่ง เช่น การใช้กล้วยแทนโทรศัพท์ การใช้ไม้แทนดาบ
4-6 ปี : เด็กวัยนี้จะเริ่มมีการเล่นทางสังคมมากขึ้น เล่นบทบาทสมมติเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนและใกล้เคียงกับบริบทจริง เช่น การป้อนอาหารตุ๊กตา เล่นขายของ เล่นเป็นตำรวจจับผู้ร้าย หรือเลียนแบบตัวละครจากนิทานหรือการ์ตูนที่เด็กสนใจ
6-12 ปี : เด็กวัยนี้จะเล่นแบบมีกฎ กติกา มีการสลับกันเล่น วางแผนการเล่น มีความเข้าใจการตัดสินผล แพ้-ชนะ เช่น เกมบันไดงู เกมเศรษฐี บิงโก เป็นต้น
12 ปี ขึ้นไป : เด็กในวัยนี้จะเลือกทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ ทำกิจกรรมเป็นกลุ่มที่ต้องอาศัยความร่วมมือกัน เช่น กิจกรรมการประดิษฐ์ที่ซับซ้อน การเล่นกีฬาเป็นทีม
การเล่นมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะของเด็กเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการด้านการเล่นให้เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้เด็กเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา