โรคร่วมที่อาจเกิดขึ้นใน ASD
โรคร่วมที่อาจเกิดขึ้นใน ASD
โรคร่วม (Comorbidity) คือ การเกิดโรคร่วมตั้งแต่สองโรคเป็นต้นไปในผู้ป่วยรายเดียว ซึ่งโรคร่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กออทิสติกมีดังนี้
1. อาการชัก (Seizure)
เป็นอาการที่เกิดจากคลื่นกระแสไฟฟ้าในสมองที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ผู้ที่มีอาการชักไม่ได้เป็นโรคลมชักเสมอไป อาจเป็นอาการชักที่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นได้ ในเด็กออทิสติกมีโอกาสในการเกิดอาการชักได้ ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ จากงานวิจัยพบว่าความชุกของเด็กที่มีอาการชักและเป็นออทิสติกมีประมาณ 32% และอาการชักนั้นสามารถพบได้ในเด็กที่มีภาวะเสี่ยงเป็นออทิสติกในช่วง 2 ปีแรก โดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการ 2 ช่วง คือ ช่วงวัยทารกถึง 5 ปี และช่วงหลังอายุ 10 ปีขึ้นไป
2. โรคกล้ามเนื้อกระตุก (TICS)
เป็นโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ใน การเคลื่อนไหว ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก บริเวณที่พบบ่อย คือ ใบหน้า ลำคอ และไหล่ โดยการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ควบคุมได้ลำบาก อาการที่เกิดขึ้น มักไม่เป็นจังหวะและไม่สม่ำเสมอ ตำแหน่งการกระตุกจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆไม่เหมือนเดิม เช่น กระพริบตาถี่ สะบัดคอ เอียงศีรษะ เป็นต้น รวมไปถึงอาการส่งเสียงผิดปกติในรูปแบบของการไอ สะอึก และมีการพูดที่ไม่เหมาะสม พูดคำซ้ำ พูดคำหยาบ ก่อนหน้านี้โรค TICS มีความเกี่ยวข้องกับโรคสมาธิสั้น (ADHD) และโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) ต่อมาได้มีหลักฐานมากมายพิสูจน์ว่า TICS มีความเกี่ยวข้องกับ ASD ด้วยและ จากงานวิจัยพบความชุกของเด็กออทิสติกที่เป็น TICS ประมาณ 22% - 34% สรุปได้ว่าเด็กที่เป็นออทิสติกอาจมีโรคร่วมเป็น TICS สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมของเด็กร่วมด้วย
3. ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ (Sleep Disturbance)
ปัญหาการนอนหลับไม่ได้เป็นหนึ่งในอาการหลักของเด็กออทิสติก แต่เป็นปัญหาที่ มักพบได้บ่อย โดยข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการรายงานของผู้ปกครองและผู้ดูแล ซึ่งปัญหาการนอนไม่ดีนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กด้วย จากงานวิจัยพบปัญหาการนอนไม่ดีในเด็กออทิสติกมากถึง 80% ในช่วงวัยเด็ก วันรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
4. โรคสมาธิสั้น (ADHD)
สมาธิสั้นเป็นโรคร่วมที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กออทิสติก จากการศึกษาทบทวนงานวิจัยทั้ง 33 ฉบับ แสดงให้เห็นว่าความชุกของโรคสมาธิสั้นในเด็กที่เป็นออทิสติกอยู่ที่ 33% และโรคร่วมนี้ทำให้เกิดความบกพร่องในการควบคุมตนเอง ความสนใจจดจ่อ และความจำเพื่อการใช้งาน
5. โรควิตกกังวล (Anxiety)
ความวิตกกังวลในเด็กออทิสติกพบอัตราความชุกสูงถึง 40% โดยมีแนวโน้มว่า ความวิตกกังวลจะเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อายุ ระดับสติปัญญา และอาการสำคัญของออทิสติก ส่งผลต่ออัตราการเกิดโรคและชนิดของโรคได้
6. โรคซึมเศร้า (Depression)
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่มีอัตราร่วมสูง จากงานวิจัยพบความชุกของภาวะซึมเศร้าในเด็กออทิสติกตั้งแต่ 2% - 30% ซึ่งความชุกของการเกิดโรคร่วมนั้นสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในการทำกิจวัตรประจำวัน การเรียน การทำงานและรวมถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากในวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความยากลำบากในการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ภายนอกและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น คนในครอบครัวและเพื่อน ในวัยรุ่นอาจพบความบกพร่องของทักษะการสื่อสารทางสังคมที่มากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมตามช่วงวัย และจากงานวิจัยพบว่าในวัยรุ่นที่เป็นออทิสติกจะประสบปัญหานี้อย่างมาก
7. ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ (Motor Problem)
ปัญหาความบกพร่องการทำงานของกล้ามเนื้อถือเป็นอาการร่วมในเด็กออทิสติก ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก โดยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยากลำบาก ในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต การมีส่วนร่วมในการเล่นกับเพื่อนเป็นอย่างมาก ความบกพร่องของการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ (Developmental Coordination Disorder : DCD) เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในเด็กที่มีความผิดปกติของการประมวลผลประสาทความรู้สึก (Sensory Processing) ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงอาจเกิดพัฒนาการล่าช้าด้านการเคลื่อนไหวร่วมด้วย จากงานวิจัยที่ทำการศึกษา DCD ในกลุ่มเด็กออทิสติก พบว่าอัตราของเด็กที่เป็นออทิสติกมีความเสี่ยงต่อความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวสูงถึง 86.9% โดยเด็กที่เป็นออทิสติกมีความเสี่ยงที่จะเป็น DCD ร่วมด้วย
8. ปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน (Hearing Problem)
ความบกพร่องทางการได้ยินอาจเกิดขึ้นได้ในเด็กออทิสติก แบ่งตามระดับความรุนแรง เป็นหูตึง (Hard of Hearing) และหูหนวก (Deaf) เด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินจะมีโรคร่วมเป็นออทิสติกนั้นมีอัตราความชุกมากกว่าประชากรทั่วไป การวินิจฉัยร่วมจะเป็นการวินิฉัยจากโรคหนึ่งนำไปสู่อีกโรคหนึ่งในภายหลัง แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กออทิสติกทุกคนจะมีปัญหาทางการได้ยินเสมอไป ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดในเด็กที่เป็นออทิสติกว่าจะมีความเสี่ยงในการบกพร่องทางการได้ยิน ดังนั้นจึงแนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินการได้ยินร่วมด้วย เพื่อให้สามารถหาสาเหตุของปัญหาได้อย่างชัดเจน และจากงานวิจัยพบว่าในวัยรุ่นที่มีปัญหาทางการได้ยินมักถูกวินิจฉัยเป็นออทิสติกช้ากว่าคนที่ไม่มีปัญหาทางการได้ยิน ส่งผลให้ไม่สามารถรู้ปัญหาที่แน่ชัดและได้รับการรักษาที่ล่าช้าไปด้วย
9. ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและลำไส้ (Gastrointestinal Problem)
ปัญหาหนึ่งที่มักถูกมองข้ามและพบได้บ่อยในเด็กออทิสติก คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการท้องผูก ท้องร่วง และปวดท้องบ่อยที่สุด จากงานวิจัยพบความชุกของเด็กออทิสติกที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและลำไส้ แตกต่างกันไปตั้งแต่ 9% - 91% แสดงให้เห็นว่าเด็กออทิสติกมีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและลำไส้มากกว่าเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ด้านอื่นๆ จากรายงานของ Dr. Leo Kanner อธิบายถึงปัญหาการรับประทานอาหารใน เด็กออทิสติก เช่น การเลือกทานอาหารที่เฉพาะเจาะจงและการปฏิเสธอาหารตามหมวดหมู่และลักษณะเนื้อสัมผัสของอาหารแต่ละชนิดที่เด็กไม่ชอบ เป็นต้น ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและลำไส้ที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งอาการท้องผูกและปวดท้องสัมพันธ์กับความบกพร่องของพัฒนาการด้านการพูดและการเข้าสังคม อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับระดับความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
10. การบูรณาประสาทความรู้สึก (Sensory Integration)
การบูรณาประสาทความรู้สึก (Sensory Integration) เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้เกิดพฤติกรรมกระตุ้นตัวเองในเด็กออทิสติก เนื่องจากในเด็กกลุ่มนี้มีความบกพร่องเกี่ยวกับการประมวลผลประสาทความรู้สึก ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการรับรู้ทางประสาทความรู้สึกที่มากหรือน้อยเกินไป แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมต่างๆที่เป็นการตอบสนองต่อ สิ่งเร้า ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยพฤติกรรมที่มักพบได้บ่อย เช่น เดินเขย่ง กระโดด สะบัดมือ โยกตัว เป็นต้น
11. ความหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
ความหุนหันพลันแล่นเป็นหนึ่งในพฤติกรรมการกระตุ้นตัวเองในรูปแบบที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อตัวเด็กมากที่สุด เกิดจากความบกพร่องของเปลือกสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญาขั้นสูง (Executive Function) ทำให้เกิดความสามารถในการบริหารจัดการ การปรับตัว และการควบคุมอารมณ์ แต่ในเด็กกลุ่มออทิสติกมีความบกพร่องในส่วนของสติปัญญาขั้นสูงที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหานี้อาจนำไปสู่ความก้าวร้าว การทำร้ายตนเองและทำร้ายผู้อื่นในอนาคตได้
สมชาย โตวณะบุตร, สุรางค์ เจียมจรรยา รังสรรค์ ชัยเสวิกุล และ สมศักดิ์ เทียมเก่า. (2552). แนวทางการรักษาโรคลมชักสำหรับแพทย์: สถาบันประสาทวิทยา.
Beers, A. N., McBoyle, M., Kakande, E., Dar Santos, R. C., & Kozak, F. K. (2014). Autism and peripheral hearing loss: a systematic review. International journal of pediatric otorhinolaryngology, 78(1), 96101. https://doi.org/10.1016/j.ijporl.2013.10.063
Bhat A. N. (2020). Is Motor Impairment in Autism Spectrum Disorder Distinct From Developmental Coordination Disorder? A Report From the SPARK Study. Physical therapy, 100(4), 633644. https://doi.org/10.1093/ptj/pzz190
Berenguer-Forner, C., Miranda-Casas, A., Pastor-Cerezuela, G., & Roselló-Miranda, R. (2015). Comorbilidad del trastorno del espectro autista y el déficit de atención con hiperactividad. Estudio de revisión [Comorbidity of autism spectrum disorder and attention deficit with hyperactivity. A review study]. Revista de neurologia, 60 Suppl 1, S37S43.
Clarke, D. F., Roberts, W., Daraksan, M., Dupuis, A., McCabe, J., Wood, H., Snead, O. C., 3rd, & Weiss, S. K. (2005). The prevalence of autistic spectrum disorder in children surveyed in a tertiary care epilepsy clinic. Epilepsia, 46(12), 19701977. https://doi.org/10.1111/j.1528-1167.2005.00343.x
DeFilippis M. (2018). Depression in Children and Adolescents with Autism Spectrum Disorder. Children (Basel, Switzerland), 5(9), 112. https://doi.org/10.3390/children5090112
Kahl, U., Schunke, O., Schöttle, D., David, N., Brandt, V., Bäumer, T., Roessner, V., Münchau, A., & Ganos, C. (2015). Tic Phenomenology and Tic Awareness in Adults With Autism. Movement disorders clinical practice, 2(3), 237242. https://doi.org/10.1002/mdc3.12154
Madra, M., Ringel, R., & Margolis, K. G. (2020). Gastrointestinal Issues and Autism Spectrum Disorder. Child and adolescent psychiatric clinics of North America, 29(3), 501513. https://doi.org/10.1016/j.chc.2020.02.005
Matson, J. L., & Nebel-Schwalm, M. S. (2007). Comorbid psychopathology with autism spectrum disorder in children: an overview. Research in developmental disabilities, 28(4), 341352. https://doi.org/10.1016/j.ridd.2005.12.004
McFayden, T. C., Culbertson, S., DeRamus, M., Kramer, C., Roush, J., & Mankowski, J. (2023). Assessing Autism in Deaf/Hard-of-Hearing Youths: Interdisciplinary Teams, COVID Considerations, and Future Directions. Perspectives on psychological science : a journal of the Association for Psychological Science, 18(6), 14921507. https://doi.org/10.1177/17456916231178711
Schwichtenberg, A. J., Janis, A., Lindsay, A., Desai, H., Sahu, A., Kellerman, A., Chong, P. L. H., Abel, E. A., & Yatcilla, J. K. (2022). Sleep in Children with Autism Spectrum Disorder: A Narrative Review and Systematic Update. Current sleep medicine reports, 8(4), 5161. https://doi.org/10.1007/s40675-022-00234-5
Simonne, c., Russell, C., Steven, W. L., Shantha, M. R., & Kim, M. C. (2014). The relationship between sleep and behavior in autism sprectrum disorder (ASD) : a review. Neurodevelopmental Disorders, 6, Pages 44.
Steensel, F. JA., Bogels, S., Magiati, I., & Perrin, S. (2014). Anxiety in Individuals with ASD: Prevalence, Phenomenology, Etiology, Assessment, and Interventions. In V. Patel, V. Preedy, & C. Martin (Eds.), The Comprehensive Guide to Autism (Vol. Section III, pp. 601-623). Springer. https://doi.org/10.1007/978-1-4614-4788-7_31