TMS ช่วยกระตุ้นพัฒนาการในเด็ก ASD ได้อย่างไร
TMS ช่วยกระตุ้นพัฒนาการในเด็ก ASD ได้อย่างไร
ปัญหาสำคัญ 3 ด้านที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กออทิสติก ได้แก่ ด้านภาษา การเข้าสังคมและพฤติกรรมจำกัด ในปัจจุบันจึงได้มีการนำเครื่องกระตุ้นศีรษะด้วยคลื่นแม่เหล็กมาใช้รักษาในเด็กกลุ่มนี้ร่วมกับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการด้วย
การรักษาด้วย TMS เป็นการกระตุ้นที่บริเวณศีรษะตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีความบกพร่อง โดยแพทย์จะวางแผนการรักษาออกมาเป็นรูปแบบตำแหน่งที่ต้องทำการกระตุ้นตามอาการผ่านการตรวจประเมินและวินิจฉัยโรค ในเด็กออทิสติกนั้นมีตำแหน่งในการกระตุ้นที่สัมพันธ์กับปัญหาหลักและมีความสำคัญต่อการกระตุ้นพัฒนาการอย่างมาก ได้แก่
ตำแหน่งที่ 1 : บริเวณสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การวางแผน การแก้ปัญหา การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ และบุคลิกภาพ ซึ่งตำแหน่งนี้มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาขั้นสูง (Executive function) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ EF เป็นตำแหน่งที่นำมาใช้ในการกระตุ้นมากที่สุด
ตำแหน่งที่ 2 : บริเวณสมองส่วนข้างด้านหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสื่อสารทั้งในเรื่องของความเข้าใจภาษาและการเลือกใช้ภาษา
ตำแหน่งที่ 3 : บริเวณสมองส่วนข้างด้านหลัง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้และการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การมีปฏิสัมพันธ์และการเข้าสังคม
EF สำคัญต่อพัฒนาการเด็กอย่างไร
สติปัญญาขั้นสูง (Executive Function : EF) เป็นกระบวนการทางความคิดของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ในกิจกรรมการดำเนินชีวิต การเรียน และการทำงานให้บรรลุเป้าหมายหรือสำเร็จตามกำหนดได้ ซึ่งในวัยเด็กเป็นช่วงที่มีการพัฒนาทักษะนี้มากที่สุด โดย EF ประกอบไปด้วย 9 ด้าน ดังภาพ
รูปภาพจาก : https://www.planforkids.com/kids_corner/ef-executive-functions-9-group
1. ความคิดยืดหยุ่น (Shift / Cognitive Flexibility) เป็นความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองการคิดตามเงื่อนไขและสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการคิดแก้ปัญหา คิดนอกกรอบ
2. การยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control) เป็นความสามารถในการยับยั้งความคิด การกระทำ และอารมณ์ เพื่อให้สามารถควบคุมตนเองในการทำกิจกรรมให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
3. ความจำเพื่อการใช้งาน (Working Memory) เป็นความสามารถในการจดจำ เก็บข้อมูลและดึงเอาข้อมูลออกมาใช้ได้ทันทีจากประสบการณ์เดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์
4. ความสนใจจดจ่อ (Attention) เป็นความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ โดยที่ไม่วอกแวก และทำงานจนสำเร็จได้
5. การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) เป็นความสามารถในการควบคุม จัดการและแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์รุนแรงที่อาจนำไปสู่ความก้าวร้าวในอนาคตได้
6. การประเมินตนเอง (Self-Monitoring) เป็นความสามารถในการคิดทบทวนการกระทำและสะท้อนผลของการกระทำได้เอง เมื่อพบข้อผิดพลาดสามารถเข้าใจ ยอมรับ นำมาแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นได้
7. การคิดริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) เป็นความสามารถในการคิดริเริ่มและลงมือทำทันที โดยไม่ต้องมีคนเตือน เป็นความกล้าคิด กล้าทำ แบบไม่กลัวความผิดพลาด
8. การวางแผนและการจัดการ (Planning and Organizing) เป็นความสามารถในการบริหารจัดการ โดยการตั้งเป้าหมาย วางแผนอย่างเป็นขั้นตอน มองภาพรวม จัดลำดับความสำคัญ รวมไปถึงการบริหารเวลาและทรัพยากร ถ้าเด็กขาดทักษะด้านนี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน
9. การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) เป็นความเพียรพยายาม มุ่งมั่นและอดทนลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลวใด ๆ
จากที่กล่าวถึงองค์ประกอบของ EF มาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการมี EF ที่ดีในเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดย EF จะทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ส่งผลช่วยให้เด็กคิดเองเป็น เรียนรู้ได้ แก้ปัญหาเป็น และสามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ดังนั้นผู้ปกครองควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะ EF ให้เด็กได้รับการฝึกฝนผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง
อ้างอิง
นันทา โพธิ์คำ. (2563). ทักษะสมอง EF สำหรับเด็กปฐมวัย Executive Functions for Early Childhood. วารสารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, 2, หน้า 712-713.
สุนีรา อินทเสน และ มัธยันห์ แสนใจบาญ. (2563). Executive Function ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร, หน้า 2-3.
สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชัยนาท. (2023). การพัฒนาทักษะทางสมอง EF (Executive Function).