TMS เกี่ยวข้องกับ ASD อย่างไร?
โรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder : ASD)
เป็นความผิดปกติของสมองโดยตรงที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ทำให้เกิดความล่าช้าของพัฒนาการในแต่ละด้านที่ระดับความล่าช้าแตกต่างกัน อาการแสดงมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญา การเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย ตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยนั้นจะพิจารณาจากอาการหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา การเข้าสังคม และพฤติกรรมจำกัด
ถ้ามีอาการครบทั้ง 3 ด้านตามที่กล่าวมา แม้ว่าอาการบางด้านจะดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ในอดีตเคยมีอาการหรือพฤติกรรมนี้ร่วมด้วย จะถูกพิจารณาเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยด้วยซึ่งระดับความรุนแรงของโรคนั้นจะมีตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงมากที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนและการเข้าสังคม
"Dr. Manuel ได้ทำการศึกษาสมองของเด็กออทิสติกพบว่าปัญหาเกิดจากความผิดปกติของสมอง เนื่องจากเซลล์ประสาทมีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งหรือมีการพัฒนาของเซลล์ผิดปกติ จึงทำให้สูญเสียสมดุลระหว่างเซลล์ที่ทำงานเกี่ยวกับการกระตุ้นและยับยั้ง ส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก จึงได้ข้อสรุปว่าสาเหตุของโรคเกิดจากการตั้งครรภ์ร่วมกับสิ่งแวดล้อมของเด็กหลังการคลอดประมาณ 70% ในส่วนของพันธุกรรมนั้นเกิดขึ้นเพียง 30%"
สอดคล้องกับกลไกการรักษาของ TMS ที่ช่วยกระตุ้นสมองเพื่อให้เกิดความสมดุล ทำให้พัฒนาการของเด็กเป็นไปตามลำดับของพัฒนาการตามช่วงวัย ในปี ค.ศ. 2015 มีการเผยแพร่หนังสือที่รวบรวมและอธิบายกลไกการรักษาด้วย TMS ที่มีผลต่อสมองหรือร่างกาย แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ
1. สารสื่อประสาทในสมอง
2. การส่งกระแสไฟฟ้าของเซลล์ประสาท
3. ยีนส์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ โดยการซ่อมแซมเซลล์ประสาทบริเวณที่บกพร่องได้
จากกลไกการรักษาแสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วย TMS สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดกับสาเหตุของการเกิดโรค ด้วยการปรับการทำงานเซลล์ประสาทที่ผิดปกติ ผ่านการกระตุ้นสมองด้วยวิธีการกระตุ้นหรือยับยั้งในแต่ละตำแหน่งตามปัญหานั้น ๆ เมื่อรู้ปัญหาเร็วและเริ่มการรักษาตั้งแต่อายุน้อยยิ่งเป็นผลดีต่อแนวโน้มของการรักษา ดังนั้นการทำ TMS จึงเข้ามามีบทบาทในการรักษาเด็กออทิสติกเป็นอย่างมากในปัจจุบันนี้ ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด การปรับพฤติกรรม เป็นต้น ยิ่งทำการรักษาร่วมกันหลายทางรวมถึงได้รับการฝึกฝนจากผู้ปกครองร่วมด้วยจะทำให้ผลลัพธ์ของการรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย