แชร์

การรักษาในกลุ่มเด็กออทิสติกมีอะไรบ้าง?

อัพเดทล่าสุด: 15 ต.ค. 2024
657 ผู้เข้าชม

การรักษาในกลุ่มเด็กออทิสติก

    ข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ระบุว่าปัจจุบันการรักษาโรคออทิสติกมีหลายประเภทและการรักษาบางอย่างอาจมีมากกว่าหนึ่งวิธี โดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทของการรักษาได้ดังนี้

  • Behavioral (การบำบัดทางพฤติกรรม)
  • Developmental (การบำบัดทางพัฒนาการ)
  • Educational (การบำบัดทางการเรียนรู้)
  • Social-relational (การบำบัดทางสังคม)
  • Pharmacological (การบำบัดด้วยยา)
  • Psychological (การบำบัดทางจิตวิทยา)
  • Complementary and alternative (การบำบัดทางเลือกอื่น ๆ)

Behavioral (การบำบัดทางพฤติกรรม)
    เป็นการมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนและหลังพฤติกรรมนั้น ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการ Applied behavior analysis (ABA) ส่งเสริมพฤติกรรมที่ต้องการและยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เพื่อให้เกิดทักษะการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม มีวิธีการสอน 2 รูปแบบ คือ

- Discrete trial training (DTT) : การแบ่งพฤติกรรมออกเป็นหลายส่วน ให้คำแนะนำหรือสอนการแสดงออกทางพฤติกรรมในแบบที่ต้องการทีละขั้นตอน ถ้าเด็กมีการตอบสนองและมีพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือตามที่ต้องการ เด็กก็จะได้รับรางวัล แต่ถ้าหากเด็กมีการตอบสนองและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เด็กจะถูกเพิกเฉย (Ignore) 

- Pivotal response training (PRT) : การค้นหาว่าพฤติกรรมหนึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอื่นอย่างไร และทำการแก้ไขทักษะพื้นฐานของพฤติกรรมนั้นก่อนเพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะอื่น ๆ ต่อไปได้ เช่น เด็กขาดทักษะพื้นฐานในการเริ่มต้นบทสนทนาจึงทำให้เด็กไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้


Developmental (การบำบัดทางพัฒนาการ)
    เป็นการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะเฉพาะ เช่น ทักษะด้านการพูด ทักษะด้านร่างกาย ซึ่งการบำบัดที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มเด็กออทิสติก ได้แก่ การฝึกอรรถบำบัด (Speech and language therapy) ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความเข้าใจด้านภาษาและมีพัฒนาการทางภาษาที่สมวัย เนื่องจากเด็กออทิสติกบางคนไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ จึงต้องใช้สัญลักษณ์ รูปภาพ ท่าทาง หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวช่วยในการสื่อสาร การฝึกกิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) จะช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง และยังมีการบูรณาการประสาทความรู้สึก (Sensory integration therapy) เพื่อช่วยปรับปรุงการตอบสนองของระบบประสาทความรู้สึกที่มากหรือน้อยเกินไป นอกจากนั้นยังมีการฝึกกายภาพบำบัด (Physical therapy) ที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว การทรงตัว ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กสมวัย


Educational (การบำบัดทางการเรียนรู้)
    เป็นการมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยห้องเรียนส่วนใหญ่จะใช้แนวทางการศึกษาแบบ Treatment and Education of Autistic and Related Communication-Handicapped Children (TEACCH) เน้นการสอนที่มีระบบและขั้นตอนในการเรียนรู้ชัดเจน มีการจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่เหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการมองเห็นผ่านรูปภาพ สอนให้เด็กสื่อสารโดยใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์เพื่อช่วยให้เด็กสามารถเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตนเองได้


Social-relational (การบำบัดทางสังคม)
    เป็นการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะทางสังคมและสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวโดยใช้วิธีการ Developmental, Individual Differences, Relationship-Based (DIR หรือ Floor Time) ซึ่งครอบครัวจะต้องใช้เวลาหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็กเพื่อกระตุ้นพัฒนาการและส่งเสริมความสัมพันธ์โดยอาศัยสิ่งที่เด็กสนใจและตรงกับระดับพัฒนาการ


Pharmacological (การบำบัดด้วยยา)
    สิ่งสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับการบำบัดด้วยยา คือ ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาอาการหลักของโรคออทิสติก แต่มียาบางชนิดสามารถใช้รักษาอาการร่วมที่เกิดขึ้นได้ เช่น Risperidone สำหรับกลุ่มที่มีปัญหาการนอน, Aripiprazole สำหรับกลุ่มที่มีอารมณ์รุนแรงหรือมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และ Methylphenidate สำหรับกลุ่มที่ไม่มีสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง เป็นต้น

Psychological (การบำบัดทางจิตวิทยา)
    เป็นการมุ่งเน้นไปที่การรับมือกับความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า และปัญหาทางสุขภาพจิตด้วยวิธีการ Cognitive-behavior therapy (CBT) ส่งเสริมการเรียนรู้ความเชื่อมโยงระหว่างความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ใช้การพูดคุยเพื่อให้เด็กเข้าใจถึงความคิดหรือความเชื่อของตนเองที่อาจจะบิดเบือนไปจากความจริง และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด


Complementary and alternative (การบำบัดทางเลือกอื่น ๆ)
    การบำบัดเสริมและการบำบัดทางเลือกอื่น ๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารเสริม, การบำบัดด้วยสัตว์, ศิลปะบำบัด รวมไปถึงการกระตุ้นศีรษะด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation) 



อ้างอิง
Hyman, S. L., Levy, S. E., Myers, S. M., & COUNCIL ON CHILDREN WITH DISABILITIES, SECTION ON DEVELOPMENTAL AND BEHAVIORAL PEDIATRICS (2020). Identification, Evaluation, and Management of Children With Autism Spectrum Disorder. Pediatrics, 145(1), e20193447.

บทความที่เกี่ยวข้อง
กิจวัตรประจำวัน เรื่องเล็ก ๆ ที่สำคัญ
การช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน เป็นทักษะสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กมีพื้นฐานที่ดี เพราะกิจวัตรประจำวันเป็นสิ่งจำเป็นที่เด็กทุกคนต้องทำประจำไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหาร การแต่งกาย การขับถ่าย และการดูแลความสะอาดของร่างกาย
เมื่อลูกกินยาก ทำอย่างไรดี
เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัย 1 - 3 ปี เป็นวัยที่มีความคิดเป็นของตัวเองค่อนข้างสูง เริ่มรู้จักความต้องการของตนเอง รู้จักการปฏิเสธมากขึ้น ปัญหาที่มาจากการที่เด็กเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น คือ เลือกกิน กินยาก เบื่ออาหาร และไม่ยอมกินอาหาร
พัฒนาการด้านการเขียน เรื่องเขียนง่ายนิดเดียว!
ปัญหาที่เรามักจะพบได้บ่อยในเด็กวัยเริ่มเขียน คือ เด็กจับดินสอไม่ถูกต้อง จับดินสอไม่เป็น ส่งผลให้เด็กไม่มั่นใจและไม่ให้ความร่วมมือในการเขียน
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy