แชร์

รู้จักกับโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD

อัพเดทล่าสุด: 28 ต.ค. 2024
178 ผู้เข้าชม

รู้จักกับโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ LD

      ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยเรียน และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะพบปัญหาเกี่ยวกับการอ่านบ่อยที่สุด

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder : LD) เป็นความผิดปกติของสมองที่ควบคุมความสามารถในการเรียนรู้ ส่งผลต่อทักษะการเรียนรู้ด้านใดด้านหนึ่ง แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณ

  • ทักษะการอ่าน (Dyslexia) : มีความบกพร่องในการฟังและแยกแยะเสียง มีความยากลำบากในการอ่านหรือสะกดคำ จำคำศัพท์ได้จำกัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้ามบรรทัด อ่านหนังสือไม่คล่องแคล่ว อ่านจับใจความไม่ได้ ไม่เข้าใจเนื้อหาจากการอ่าน
  • ทักษะการเขียน (Dysgraphia) : เขียนพยัญชนะหรือตัวเลขสลับด้าน สับสนในการเขียนพยัญชนะม้วนหัวเข้าหรือออก เรียงลำดับอักษรผิด เขียนสะกดคำผิด ไม่สามารถเขียนหนังสือภายในบรรทัดได้
  • ทักษะการคำนวณ (Dyscalculia) : มีความยากลำบากในการคำนวณและการรับรู้เชิงจำนวน เช่น การนับเลข การรู้จักตัวเลข ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนกับตัวเลข ความเข้าใจเชิงลำดับ การเปรียบเทียบ การเพิ่มและลดจำนวน จำสูตรคูณไม่ได้ ทดเลขหรือยืมไม่เป็น ไม่เข้าใจเรื่องเวลา

ซึ่งความบกพร่องในทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ตามมาได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอ่านและการเขียน
  • ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จในชั้นเรียน
  • ขี้ลืม ทำของหายบ่อย
  • ไม่มั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่เก่ง
  • หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวและต่อต้านเมื่อต้องทำตามคำสั่ง
วิธีการสอนและการรักษาในกลุ่มเด็ก LD
  • ทักษะการอ่าน (Dyslexia) : เริ่มจากฝึกการแยกแยะเสียง สอนการเชื่อมโยงเสียงกับพยัญชนะ สอนคำศัพท์ การประสมคำ ฝึกความคล่องแคล่วในการอ่าน และฝึกให้สรุปเนื้อหาหรือตั้งคำถามจากการอ่าน  
  • ทักษะการเขียน (Dysgraphia) : ฝึกให้มีการวางแผนก่อนการเขียน ฝึกเขียนพยัญชนะที่สับสนการม้วนหัวเข้าหรือออก เช่น ภ กับ ถ หรือ ด กับ ค
  • ทักษะการคำนวณ (Dyscalculia) : สอนความเข้าใจจำนวนพื้นฐาน การเปรียบเทียบจำนวนมากหรือน้อย สอนการนับ สอนการคำนวณตัวเลขเบื้องต้น และสอนเรื่องการดูเวลา

ดังนั้นผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุด คือ

  1. ให้เวลาในการเรียนรู้ โดยอาจจะใช้วิธีการสอนซ้ำ ๆ อธิบาย และแสดงตัวอย่าง เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น
  2. ผู้ปกครองต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี กระตุ้นให้เด็กอธิบายหรือตอบคำถามตามความเข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ
  3. วางแผนให้เด็กมีโอกาสทำกิจกรรมสำเร็จมากที่สุด เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจในการทำกิจกรรมด้วยตนเองมากขึ้น
  4. หลีกเลี่ยงการพูดตำหนิ ให้คำชมเชยต่อความสำเร็จของเด็กแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
  5. ส่งเสริมให้เด็กอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน เพื่อทำให้เด็กมีความมั่นใจมากขึ้น

อ้างอิง
Butterworth B. The development of arithmetical abilities. J Child Psychol Psychiatry 2005;46(1):3-18.

Ludwig von Hahn. Specific learning disabilities in children: role of the primary care provider [Internet]. 2014. [cited 2014 oct 8] Available from: http://www.uptodate.com/contents/specificlearning-disabilities-in-children-role-of-the-primary-care-provider

Shaywitz, S. E., Gruen, J. R., & Shaywitz, B. A. (2007). Management of dyslexia, its rationale, and underlying neurobiology. Pediatric clinics of North America, 54(3), 609viii.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy