อาการแบบนี้... แค่ซนหรือสมาธิสั้นกันนะ
อาการแบบนี้... แค่ซนหรือสมาธิสั้นกันนะ
ทำไมลูกเราถึงซน ชอบวิ่งไปวิ่งมา อยู่ไม่ค่อยนิ่งเลย? เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหลายคนกังวลว่าจริง ๆ แล้ว ลูกเราแค่ซนหรือมีอาการเข้าข่ายสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD)
เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อพฤติกรรม โดยอาการแสดงจะเกิดก่อนอายุ 7 ปี ซึ่งประกอบไปด้วย อาการสมาธิสั้น ซน อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น
- อาการสมาธิสั้น (Inattention)
ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ฟังหรือไม่สนใจเมื่อมีคนพูดด้วย ทำตามคำสั่งไม่จบหรือทำงานไม่เสร็จ หลีกเลี่ยงที่จะทำสิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม มีปัญหาในการจัดระบบงาน ไม่รอบคอบ ทำของหายบ่อย วอกแวกง่าย ลืมกิจวัตรประจำวันบางขั้นตอน
- ซน อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
- หุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
- อาการซน : ยุกยิก อยู่ไม่นิ่ง ลุกจากที่นั่งขณะอยู่ในห้องเรียน วิ่งหรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เคลื่อนไหวตลอดเวลา
- อาการหุนหันพลันแล่น : พูดโพล่งหรือพูดแทรกผู้อื่นในวงสนทนา ฟังคำสั่งไม่จบ ตอบคำถามก่อนที่ผู้อื่นจะพูดจบ ใจร้อน ทนรอคิวไม่ได้
อาการสมาธิสั้น ซน อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่นนี้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเรียน การทำงาน การเข้าสังคม และการทำกิจวัตรประจำวันตามมาได้ เช่น
- วอกแวก ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ครูกำลังสอนได้ ทำงานหรือการบ้านที่ได้รับมอบหมายไม่เสร็จ ทำให้ผลการเรียนแย่ลง
- ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ พูดโพล่งหรือพูดแทรก ทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจขณะสนทนาด้วย
- ใจร้อน ไม่สามารถรอคิวเพื่อซื้ออาหารหรือเล่นของเล่นได้ ทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจในการรอคอยและอาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านอารมณ์ โมโห หงุดหงิดง่ายตามมา
วิธีการสอนและการรักษาในกลุ่มเด็ก ADHD
- การปรับพฤติกรรม
- ฝึกให้เด็กรู้จักรอคอย สร้างเงื่อนไขในการรอคอย
- ให้คำชมหรือรางวัล เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
- สร้างวินัยให้กับเด็ก มีกฎกติกาที่ชัดเจน
- ให้เด็กใช้พลังงานและการไม่ชอบอยู่นิ่งให้เป็นประโยชน์ เช่น ให้ช่วยทำงานบ้านที่สามารถทำได้
- เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรใช้วิธีนุ่มนวลเพื่อหยุดหรือเบี่ยงเบนพฤติกรรมนั้นด้วยสีหน้าและท่าทางที่เอาจริง โดยใช้การลงโทษที่ไม่รุนแรงและเป็นไปตามข้อตกลง
- แบ่งงานให้ทำทีละส่วน และคอยกำกับให้ทำจนเสร็จ
- กำหนดช่วงเวลาในการเล่นเกมหรือการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และให้ผู้ปกครองช่วยตรวจสอบว่าเกมนั้นมีความรุนแรงหรือเหมาะสมกับช่วงวัยหรือไม่
- ปรึกษากับครูประจำชั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามความสามารถด้านการเรียนและการปรับตัวในโรงเรียน